การศึกษาพัฒนาเสน่ห์การท่องเที่ยว

การศึกษาพัฒนาเสน่ห์การท่องเที่ยว

           E-mail : kwanapi@bcca.go.th
          เสน่ห์ของคนในชุมชน ในท้องถิ่นคือมีวิถีชีวิตแบบแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน เปรียบเสมือนครอบครัวใหญ่ ใช้วิถีชีวิตด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัย ทุกคนในท้องถิ่น ในชุมชนจะรู้จักรักใคร่กลมเกลียวกันด้วยวิถีแห่งสังคมการเกษตร เช่น การลงแขกเกี่ยวข้าวการลงแขกปลูกพริก หอม กระเทียม หรือการลงแขกพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ของชุมชน การทำบุญตามประเพณีต่างๆ การละเล่นต่างๆในท้องถิ่น ในชุมชน ทุกคนมีความพร้อมใจช่วยกันอย่างมีความอบอุ่น
          นี่แหละคือต้นทุนทางสังคม ต้นทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นทั่วประเทศไทย อันเป็นเอกลักษณ์ที่มีคุณค่า คงไม่สายเกินไปที่วิทยาลัยชุมชน เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐระดับอุดมศึกษา คือเขาเปิดการเรียนการสอนในระดับอนุปริญญา สถาบันการศึกษาที่ชื่อวิทยาลัยชุมชน และต่อท้ายด้วยชื่อจังหวัดต่างๆ อันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยชุมชนนั้น เช่น วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน วิทยาลัยชุมชนตราด ฯลฯ เป็นต้น และยังมีวิทยาลัยชุมชนอีก 20 จังหวัดทั่วประเทศไทย มีกระบวนการเรียนการสอนที่แปลกแตกต่าง และโดดเด่นจากการศึกษารูปแบบอื่นๆ ตรงที่ว่า การเปิดสอนหลักสูตรใดๆ ของแต่ละแห่งนั้นเป็นความต้องการของผู้เรียน เมื่อเรียนแล้วนำไปพัฒนายกระดับอาชีพของตนเอง ที่สำคัญช่วยพัฒนายกระดับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ในท้องถิ่นของตนเองได้
          วันนี้จะหยิบยกตัวอย่างวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน และวิทยาลัยชุมชนตราดกำลังขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายและโครงการจัดการความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนซึ่งเป็นหลักสูตรฝึกอบรมหรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า หลักสูตรพัฒนาทักษะและเสริมสร้างประสบการณ์ด้านอาชีพและคุณภาพชีวิตอยู่ในสาขาวิชาบริหารธุรกิจและการจัดการ และมีวิชาที่จะเรียนเกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยว ซึ่งเนื้อหาสาระการเรียนก็ไม่ใช่ต้องไปท่องตำรับตำราที่เป็นวิชาการ อ่านแล้วปวดศีรษะกันเปล่าๆ
          ด้านการเรียนการสอน ก่อนที่จะนำมาจัดให้เป็นระบบเชิงวิชาการ ทางวิทยาลัยชุมชนต้องเข้าไปสัมผัสชีวิตจริงของชุมชนศึกษาหาองค์ความรู้จากพื้นที่จริงว่าคนในชุมชนเขารู้จักตัวเองดีหรือไม่ทุนทางสังคมในพื้นที่อยู่กันอย่างไร เช่น รวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่ม ใช้วิถีชีวิตและประกอบอาชีพด้วยภูมิปัญญาใด แล้วมีความผาสุก ต้นทุนทางวัฒนธรรมดีๆ ที่เขามีอยู่มีปัญหาหรือไม่ เขาอยากให้วิทยาลัยชุมชนช่วยยกระดับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไรดังนั้นวิชาการท่องเที่ยวของวิทยาลัยชุมชนก็เป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนนั่นเอง
          คิดได้อย่างไร จึงจัดการศึกษารูปแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งคุณสุนันทา แสงทอง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน บอกว่า เป็นหนึ่งในการตอบโจทย์การจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนที่ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาของชุมชนที่จัดการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อตอบสนองความต้องการทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน วันนี้ก็จะเห็นว่าประโยชน์ของวิทยาลัยชุมชนที่เราทำมาสิบปีเป็นเชิงรุกที่นำไปสู่การเรียนรู้ในชุมชนที่ให้ชุมชนดูแลตัวเองได้ในวันหนึ่งก็จะมีความยั่งยืนและมั่นคง ยืนได้ด้วยขาของตนเอง
          อะไรคือแรงบันดาลใจให้ฉุกคิดว่าวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนต้องจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนขึ้นมา ไปรับทราบจาก ดร.จรูญ คำนวณตา ประธานสภาวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน และคุณคมสัน คูสินทรัพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน ร่วมกันเล่าเรื่องราวให้ทราบว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวกันได้ตลอดทั้งปีแต่ส่วนใหญ่มาเที่ยวตามกระแสหลัก คือ มีการจัดทัวร์จากที่ต่างๆทั้งชาวไทย ชาวต่างประเทศ มาแล้วก็ไป และเกิดการทำธุรกิจจากคนต่างถิ่นแทบทั้งสิ้น ธุรกิจที่เข้ามาลงทุนไม่ได้คำนึงถึงวัฒนธรรมที่มีคุณค่า เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีความสุขของคนในชุมชน ส่วนใหญ่รายได้คนในชุมชนแทบจะไม่มีเลยรายได้ไปตกอยู่กับผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นคนต่างถิ่นแถมยังทำลายความสวยงาม ธรรมชาติ คุณค่าทางวัฒนธรรมของคนชาวเขาเผ่าต่างๆในจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปเกือบหมด
          วิทยาลัยชุมชนก็มีโอกาสรับฟังจากเวทีประชาคม หลายเวทีก็นำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์กันและเห็นว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชนถ้าจะประสบผลสำเร็จ คนจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะได้มีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยว เพราะรู้ว่าตัวแก่นของแม่ฮ่องสอนคือวัฒนธรรมกับธรรมชาติ แม่ฮ่องสอนจะอยู่ได้ตรงนี้ ตรงนี้เราต้องพยายามทำให้เข้มแข็ง วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนที่เราเลือกการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพราะเรามองว่าการท่องเที่ยวแบบนี้มันเน้นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวแบบทั่วไปอาจจะเป็นการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรแต่การท่องเที่ยวโดยชุมชนเน้นโดย 3 องค์ประกอบ คือเน้นเรื่องวัฒนธรรม เรื่องคน และวิถีชีวิตซึ่งมองว่ามันเหมาะกับกระแสแม่ฮ่องสอนที่ควรจะจัดการ ทางวิทยาลัยชุมชนก็ได้เข้าไปส่งเสริมความพร้อม ความต้องการของชุมชน ชาวบ้านเขาเป็นเจ้าของวัฒนธรรมอยู่ เขาดูแลพื้นที่ ดูแลสิ่งแวดล้อมแต่เขาขาดทักษะการจัดการเท่านั้น วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนนำกระบวนการจัดการการบริหารให้ได้รับการพัฒนาวิถีชีวิต วัฒนธรรม ธรรมชาติ สืบค้นถ่ายทอดสู่ลูกหลาน สังคมก็จะมีความสุข เพราะฉะนั้นการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนก็คือการพัฒนาชุมชนให้ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม การมาเที่ยวก็เป็นรายได้เสริมเขา ถ้าไม่มีคนมาเที่ยวเขาก็อยู่ได้ เราไม่ได้ไปก่อสร้างอะไรใหม่แต่เรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมและสิ่งนั้นดำรงอยู่ได้อยู่อย่างพอเพียง
          วิทยาลัยชุมชนตราดก็อีกอย่างที่สำคัญในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศ โดยคุณกรรณิกา สุภาภา ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนตราด เล่าให้ฟังว่า จะเห็นได้ว่าพื้นที่ตำบลเนินทราย จังหวัดตราด เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์มาก คือมีทั้งป่าชายเลน ป่าต้นจาก ซึ่งทางวิทยาลัยชุมชนเข้าไปสนับสนุนให้มีการอนุรักษ์ป่าอย่างสมบูรณ์ และจัดตั้งเป็นกลุ่มป่าชุมชน ตอนนี้ถ้าเรายังไม่คิดจะทำอะไรพื้นที่ป่าชายเลนจะเป็นพื้นที่ที่ถูกทำลายมากที่สุดถ้าชาวบ้านไม่ช่วยกันอนุรักษ์ สัตว์น้ำก็จะหายไป ชาวประมงพื้นบ้านที่มีอยู่ก็จะสูญหายไป หลังจากที่เรารวมตัวชาวบ้านเนินทรายแล้วทางวิทยาลัยชุมชนก็จัดทำเป็นหลักสูตรการอนุรักษ์ป่าชายเลน เป็นหลักสูตรที่เราเชิญทางฝ่ายอนุรักษ์ป่าชายเลนมาให้ความรู้ เราอบรมคนทั้งสามวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยกลางคน และวัยชราให้ความรู้อนุรักษ์แล้วเขาจะรู้วิธีการจัดการทรัพยากรในป่าชายเลนไม่ว่าจะทำเป็นของใช้ทำของกินก็จะเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เพิ่มรายได้ของหมู่บ้านเนินทรายเราเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 52 สิ่งแรกที่เห็นและมีความภูมิใจที่สุดคือคนในชุมชนมีความรัก มีความสามัคคี เมื่อก่อนชาวตำบลเนินทรายเขาไม่ได้ไปมาหาสู่กัน ไม่ค่อยมาอยู่ร่วมกัน แต่มาถึงวันนี้เราได้มีการมาร่วมกันคิดร่วมแก้ปัญหา พัฒนาความเป็นหนึ่งดีมาก ตำบลเนินทรายจะมีหลายเสน่ห์ เป็นหมู่บ้านขนมหวาน ถ้ามีโอกาสได้ไปเที่ยวในหมู่บ้าน เขาจะทำขนมหวานโดยใช้ผลิตภัณฑ์จากต้นจาก เช่นลูกจากเชื่อม ข้าวต้มมัดใบจาก ขนมจากปิ้ง พอเรามาส่งเสริมก็มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกมาก
          อะไรเป็นองค์ความรู้หลักๆ ที่วิทยาลัยชุมชนตราดได้รับความร่วมมือจากปราชญ์ชาวบ้านอย่างเช่นคุณวิโรจน์ สุขะประธานชมรมท่องเที่ยวท้องถิ่นเนินทราย บอกว่า อันดับแรกคือการรู้จักการรวมตัว แต่ก่อนต่างคนก็ต่างอยู่ ต่างคนก็ต่างมีดีแต่เราไม่เคยเอาดีทั้งหมดมารวมกันแล้วให้เป็นเอกภาพของชุมชนพอวิทยาลัยชุมชนตราดเข้ามาสนับสนุน ก็เหมือนเราได้ส่องกระจกเห็นรูปลักษณ์ของตัวเองได้เห็นองค์ความรู้ด้านวิชาการเป็นอย่างไรทำให้เราทำงาน ได้สะดวกขึ้น
          คุณปราณีต เข็มดี ปราชญ์ท้องถิ่นด้านธนาคารต้นไม้และไม้กฤษณา ได้เข้ามาร่วมกับวิทยาลัยชุมชนตราดและบอกว่าผมเป็นคนรักป่า ปลูกป่าบก มีกล้าไม้ ยาง ตะเคียน คะนอง แดงผมปลูกจริงๆ แต่ไม่ค่อยได้สนใจเท่าไหร่ พอวิทยาลัยชุมชนเสริมเข้ามาเหมือนมาเติมเต็มให้เรา ตอนนี้ปลูกได้เยอะถึงเยอะมาก วิทยาลัยชุมชนแนะนำให้เราปลูกทุกอย่าง ตั้งแต่ไม้ยืนต้น ไม้กินได้ และอีกอย่างที่ช่วยคือเรื่องสารเคมี ทำอย่างไรให้เราปลอดสารเคมีที่สุดแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
          นี่คือกลไกมหัศจรรย์ด้านการศึกษา จัดทำระบบการเรียนรู้ในวิทยาลัยชุมชนสร้างความแข็งแกร่ง คนที่ไม่เคยคุยกันเลยปีหนึ่งห่างกันไม่กี่กิโลไม่ได้เจอหน้ากันเลย ตอนนี้มาแลกเปลี่ยนความรู้รู้เพิ่มมากขึ้น ชุมชนแข็งแกร่ง ได้ทั้งมิติทางผลผลิตในท้องถิ่นเพิ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมด้วย ครบเลย นี่คือตัวอย่างของจริงที่เวลาสอนไม่ใช่ทฤษฎี กางตำรา อ่านหนังสือแล้วได้ใบประกาศนียบัตรแล้วจบ มันมีผลเป็นรูปธรรมออกมาเป็นตัวเป็นตนเป็นวิถีชีวิต และมีผลในแง่มิติของสังคม เขาบอกทางด้านวิชาการกินไม่ได้ เดี๋ยวนี้ต้องบอกกินได้จริง วิถีชีวิตจริงๆ นี่คือส่วนหนึ่งของการศึกษาวิทยาลัยชุมชนใช้การศึกษาช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศชาติ

          ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


kruphat

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
การก่อสร้าง